หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์
( หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2545)
ชื่อหลักสูตร : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์
Bachelor of Engineering Program in Polymer Engineering
ชื่อปริญญา : ภาษาไทย ชื่อเต็ม : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ( วิศวกรรมพอลิเมอร์ )
ชื่อย่อ : วศ. บ. ( วิศวกรรมพอลิเมอร์ )
ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม : Bachelor of Engineering (Polymer Engineering)
ชื่อย่อ : B.Eng. (Polymer Eng)
ลักษณะวิชาชีพ
ควบคุมการผลิตชิ้นงานพอลิเมอร์ในโรงงานการขึ้นรูปพอลิเมอร์
ออกแบบและคัดเลือกวัสดุ เพื่อการผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ เพื่อให้ได้ผลกำไรและความปลอดภัยมากที่สุด
ออกแบบและควบคุมเครื่องมือสำหรับขบวนการผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ทั้งหมด
ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของการใช้วัสดุพอลิเมอร์ในกระบวนการผลิต
วิจัยและศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือขบวนการผลิตแบบใหม่
ลักษณะวิชาที่ศึกษา
ในหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาทางด้านการศึกษาทั่วไป วิทยาศาสตร์ พื้นฐาน วิศวกรรมพื้นฐานและวิชาเฉพาะทางด้านวิศวกรรม พอลิเมอร์เพื่อให้ได้เป็นวิศวกร ที่มีคุณลักษณะสำคัญตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยกล่าวคือ มีทักษะมนุษย์ ทักษะการจัดการ ทักษะ ข้อมูล และทักษะเทคโนโลยี ในวิชาเฉพาะทางของวิศวกรรมพอลิเมอร์นักศึกษาจะได้ศึกษาถึงวิทยาศาสตร์ของพอลิเมอร์ อาทิเช่น โครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์ ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์และสมบัติทางกายภาพของ พอลิเมอร์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาที่ว่าด้วย การขึ้นรูปพอลิเมอร์ ซึ่งประกอบด้วย การขึ้นรูปวัสดุใช้งาน จำพวกถ้วยชาม ยางรถยนต์ ถังน้ำขนาดใหญ่ แผ่นดิสต์ เส้นใย แผ่นฟิล์ม และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษาจะได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก เทคโนโลยีการใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งการศึกษาการนำพอลิเมอร์มาใช้เป็นวัสดุเชิงประกอบกับวัสดุจำพวกเซรามิกและโ ลหะโดยมุ่งเน้นถึงการใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้าง การใช้ใน อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ วงจรอิเลคทรอนิกส์ การทำสายพานและอื่น ๆ อีกมากมาย
คุณสมบัติของผู้ศึกษา
ต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ทุกสาขาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในรายวิชาเคมี ฟิสิกส์ และ คณิตศาสตร์ นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความตั้งใจจริง สามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 182 หน่วยกิต
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ประกอบด้วย
- กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ 15 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 9 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 37 หน่วยกิต
2. หมวดวิชาเฉพาะ ประกอบด้วย
- กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ 43 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาชีพวิศวกรรมหลักเฉพาะ 52 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาเลือกบังคับ 12 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาสหกิจศึกษา 6 หน่วยกิต
3. หมวดวิชาเลือกเสรี 8 หน่วยกิต
แนวทางการประกอบอาชีพ และการศึกษาต่อสำหรับผู้จบการศึกษา
นักศึกษาที่จบการศึกษาสาขานี้ จะต้องเป็นวิศวกร ซึ่งสามารถทำงานในด้านการควบคุมเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้วัสดุพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติตามต้องการและสามารถควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบในการผลิต
ลักษณะงานที่ทำ
บัณฑิตที่จบการศึกษา จะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรองรับในหลายรูปลักษณะ เช่น
1. โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เช่น
- กลุ่มบริษัทในเครือบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัล จำกัด (TPI) : เอกชน
- กลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ไทยโพลีเอทีลีน จำกัด (TPE): รัฐบาล
- บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) : เอกชน
- บริษัท เอ็ช เอ็ม ซี พอลิเมอร์ จำกัด (HMC) : รัฐบาล
- บริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย : เอกชน
โรงงานผลิตสี กาวและวัสดุเคลือบฝัง
โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น Goodyear, Bridgestone, General Motor และอื่น ๆ
โรงงานผลิตเส้นใย สิ่งทอ เช่น ไทเรยิน โพลิเอสเทอร์ เป็นต้น
โรงงานทำหนังเทียม
โรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกวิศวกรรมแบบต่าง ๆ
หน่วยงานการศึกษาและวิจัยทางวัสดุศาสตร์ของรัฐบาล อาทิเช่น มหาวิทยาลัย ศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ และอื่น ๆ